วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จะต้องปฏิบัติตาม “ระเบียบฯ”ที่ออกโดยกระทรวงอื่นหรือไม่ (2)


                             
                    จะต้องปฏิบัติตาม “ระเบียบฯ”ที่ออกโดยกระทรวงอื่นหรือไม่(2)

ตามที่ผู้อ่านท่านหนึ่งกรุณาสอบถามการปฏิบัติตามระเบียบ/ ประกาศ/ข้อบังคับฯซึ่งออกโดยกระทรวงอื่นที่ไม่ใช่กระทรวงกลาโหม มีปัญหาว่าหากในระเบียบนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรา(บุคคลหรือหน่วยงานใน กห.) เช่นนี้เราจะต้องปฏิบัติตามหรือไม่อย่างไร  ผู้เขียนจึงได้นำเสนอในฉบับที่แล้วถึง การจัดลำดับชั้นหรือศักดิ์ของกฎหมาย และกล่าวถึง ข้อแตกต่างของอนุบัญญัติและ“ระเบียบปฏิบัติภายใน”ว่า
อนุบัญญัติ ได้แก่  ระเบียบ/ ประกาศ/ข้อบังคับ และกรณีเรียกชื่ออย่างอื่น ทั้งหมดนี้ที่ออกโดยอาศัยอำนาจของ  “กฎหมาย”(พระราชบัญญัติ /พระราชกำหนด /พระราชกฤษฎีกา/ กฎกระทรวง) 
           “ระเบียบปฏิบัติภายใน” หรือ“ระเบียบภายใน” ได้แก่ คำสั่ง /ระเบียบ และกรณีเรียกชื่ออย่างอื่น จะออกโดยอาศัยอำนาจตาม”อนุบัญญัติ”หรือไม่ก็ได้  ที่สำคัญคือออกโดยไม่ได้อาศัยอำนาจของ “กฎหมาย”
สำหรับ“ระเบียบปฏิบัติภายใน”เป็นเรื่องภายในกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยราชการใดโดยเฉพาะ และเมื่อออกโดยไม่ได้อาศัยอำนาจของ “กฎหมาย” ฉะนั้นคนหรือหน่วยงานภายนอกจึงไม่จำต้องปฎิบัติตาม 
จะมีปัญหาตรงอนุบัญญัติเท่านั้น  ที่ว่าหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานตามชื่อของอนุบัญญัติจะต้องปฏิบัติตามอนุบัญญัตินั้น  หรือไม่ ซึ่งได้กล่าวไว้บ้างแล้ว

ฉบับนี้ผู้เขียนจึงขอสรุปสิ่งที่เราจะต้องพิจารณาดังนี้คือ
1)      พิจารณาว่า ระเบียบ/ ประกาศ/ข้อบังคับฯเป็นเรื่องการสั่งการเพื่อปฏิบัติเป็นการภายในกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยราชการใดโดยเฉพาะหรือไม่ ถ้าเป็น ก็ถือว่าเป็น“ระเบียบปฏิบัติภายใน”ที่ไม่ผูกพันหน่วยงานหรือบุคคลนอกกระทรวงฯ  หน่วยงานหรือบุคคลดังกล่าวจึงไม่จำต้องปฎิบัติตาม
2)      พิจารณาว่า ในระเบียบ/ ประกาศ/ข้อบังคับฯของหน่วยงานนั้น มีข้อความที่ระบุว่าการที่ออกมาระเบียบฯได้ก็โดยอาศัยอำนาจตาม “กฎหมาย”(พระราชบัญญัติ /พระราชกำหนด /พระราชกฤษฎีกา/ กฎกระทรวง)ใดหรือไม่  ถ้ามี ก็ถือได้ว่าไม่ใช่“ระเบียบปฏิบัติภายใน” แต่เป็น“อนุบัญญัติ ที่ได้รับการมอบอำนาจมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ มีศักดิ์เป็น“กฎหมาย”ที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกโดยอ้อม  หน่วยงานหรือบุคคลนอกกระทรวงฯจะต้องปฎิบัติตามด้วย
3)      ถ้าในระเบียบ/ ประกาศ/ข้อบังคับฯของหน่วยงานใด ไม่มีข้อความที่ระบุว่าที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตาม “กฎหมาย”(พระราชบัญญัติ /พระราชกำหนด /พระราชกฤษฎีกา/ กฎกระทรวง)ใด เราจะต้องไล่ย้อนขึ้นไปตามลำดับตามชั้นหรือศักดิ์ของกฎหมาย ตรวจสอบดูว่ามี“กฎหมายฉบับใดให้อำนาจกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยราชการใดไปออกกฎหมายลูกได้หรือไม่ ถ้ามี ถือว่าเป็น“อนุบัญญัติ เช่นเดียวกรณีข้อ 2) ที่หน่วยงานหรือบุคคลนอกกระทรวงฯจะต้องปฎิบัติตาม แต่ถ้าไม่มี ถือว่าเป็น“ระเบียบปฏิบัติภายใน”เช่นกรณีข้อ 1) ที่หน่วยงานหรือบุคคลนอกกระทรวงฯไม่จำต้องปฎิบัติตาม
4)      นับตั้งแต่กฎกระทรวงไล่ย้อนขึ้นไปจนถึงรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าชื่อจะระบุว่าเป็นของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยราชการใด  ถือว่าเป็น กฎหมาย ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม


อนึ่ง ผู้เขียนต้องขออภัยที่ไม่ได้ยกตัวอย่างประกอบ แต่ถ้าท่านใดเป็นผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับกฎ ระเบียบฯ คงเข้าใจได้ไม่ยากนัก  ฉบับหน้าจะขอนำเรื่องเข้าใจง่ายใกล้ตัวมาเสนอต่อไป สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น: