วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เมื่อผู้บังคับบัญชาเลือกปฎิบัติ ใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ ผลจะเป็นเช่นไร





เมื่อผู้บังคับบัญชาเลือกปฎิบัติ ใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ ผลจะเป็นเช่นไร
                                                                                                                               
พ.อ.ชัชวาล  ธรรมนิรัต

ต้นเดือนสิงหาคมปีนี้ หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าว  “ศาลอาญา ได้พิพากษาคดี  กรณี อดีตอาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้อง     จำเลยซึ่งประกอบด้วยอดีตอธิการบดี และคณะอาจารย์ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาและหรือทำหน้าที่เป็นกรรมการสอบสวน   ในความผิดอาญาฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ”
ข้อเท็จจริง โจทก์เป็นอาจารย์ประจำได้ทำวิจัยและยื่นผลงานวิจัยกับเอกสารทางวิชาการ เสนอคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย เพื่อประกอบการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผ.ศ.)    ต่อมามีผู้กล่าวหาว่าโจทก์ลอกเลียนผลงานทางวิชาการจากบุคคลอื่น   อดีตอธิการบดีจำเลยได้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง(ชุดที่๑)สรุปการสอบสวนว่าการกระทำของโจทก์ว่าผิดวินัย จึงมีการตั้ง กรรมการสอบวินัย(ชุดที่๒)   ต่อมากรรมการมีมติให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ
จากนั้นโจทก์ ได้ยื่นอุทธรณ์มติดังกล่าวต่ออนุกรรมการ(ชุดที่๒) ซึ่งก็มีความเห็น(ใหม่)ว่ามิได้กระทำผิด โจทก์นำมติดังกล่าวไปแจ้งคณะกรรมการชุดใหญ่(ชุดที่๑) แต่กลับเพิกเฉยไม่นำเรื่องเสนอโจทก์กลับเข้ารับราชการ ทำให้โจทก์เสียหาย
ท้ายที่สุดศาลอาญาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานที่สองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่า   แม้โจทก์จะถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนผลงานทางวิชาการ แต่ก็ได้อ้างอิงแหล่งที่มาไว้ท้ายเล่ม ถือว่าไม่มีเจตนาปกปิด การกระทำของ อดีตอธิการบดีและกรรมการหรือผู้บังคับบัญชาบางคน เป็นการเลือกปฎิบัติ ใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ เป็นการกระทำผิดตามฟ้อง  พิพากษาให้จำคุก ๒ ปี และ๑ ปี   และปรับคนละ ๒๐,๐๐๐ บาทและ ๑๐,๐๐๐ บาทตามลำดับ โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้กำหนด ๒ ปี
จากกรณีดังกล่าวมีข้อพิจารณาว่า  (ผู้อ่านโปรดพิจารณาร่วมด้วย)
๑.ข้าราชการฯถ้ากระทำในตำแหน่งหน้าที่ ก็ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน ดังนั้นการกระทำอาจเป็นความผิดทางอาญาฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้
๒.การปฏิเสธของจำเลย (อดีตอธิการบดีและกรรมการ)ว่า “ได้รับร้องเรียนเรื่องดังกล่าว จึงตั้งคณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงตามขั้นตอน และรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายไปตามอำนาจหน้าที่และหลักวิชาการ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง” นั้น ศาลไม่เห็นพ้องด้วย
๓.คดีนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นการลอกเลียนผลงานทางวิชาการแล้ว  แต่ศาลให้ความสำคัญตรงที่ว่า  “มีเจตนาปกปิดแหล่งที่มาหรือไม่”    ดังนั้น การ “ลอกเลียน” กับ “การปกปิดแหล่งที่มา” เป็นคนละประเด็นกัน
๔.การปลดโจทก์(อาจารย์)ด้วยข้อหาว่ากระทำผิดวินัย ซึ่งศาลเชื่อว่าโจทก์ไม่มีเจตนาปกปิดแหล่งที่มาของข้อมูลทางวิชาการที่ลอกเลียน  อาจถือตามคดีนี้ได้ว่า “ การลอกเลียน ถ้าได้อ้างอิงแหล่งที่มาไว้ท้ายเล่มแล้ว ถือว่าไม่มีเจตนาปกปิด ไม่เป็นความผิดทางวินัย”  และในทางกลับกัน “ลอกเลียนไม่อ้างอิงแหล่งที่มา ถือว่ามีเจตนาปกปิด เป็นความผิดทางวินัย”  (และเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณด้วย )
๕.การลอกเลียนผลงานทางวิชาการ ถ้าได้อ้างอิงแหล่งที่มาไว้ท้ายเล่ม ศาลในคดีนี้ถือว่าไม่มีเจตนาปกปิด เนื่องจากข้อเท็จจริงนี้เกิดขึ้นในคดีอาญา ถ้าเป็นคดีทรัพย์สินทางปัญญา อาจถือว่าเป็นละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว(ข่าวสารสภาอาจารย์ สกศ.รร.จปร. ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓๘หน้า ๕๕ .. “เขียนงานวิจัยอย่างไรไม่ติดคุก”)  ดังนั้นการกระทำ(ลอกเลียน)ครั้งเดียวกันอาจเป็นความผิดได้ทั้งทางวินัย และการละเมิดลิขสิทธิ์
๖.อธิการบดี(จำเลย)ใช้การดำเนินการทางวินัยกับอาจารย์(โจทก์)   แต่อาจารย์เลือกฟ้องคดีอาญา(ซึ่งสามารถใช้การร้องเรียนทางวินัยและฟ้องคดีปกครองให้เพิกถอนคำสั่งปลดได้ด้วย)  กรณีวินัยและอาญามีผลต่างกันคือ  คดีวินัยผลร้ายแรงคือถูกปลด  แต่คดีอาญาผลคืออาจถูกจำคุกและปรับ ดังนั้นคดีทางวินัย กับคดีอาญา  เป็นคนละคดีที่มีผลต่างกัน
๗.การใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาควรใช้ความระมัดระวังเพราะอาจเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯอันจะทำให้เป็นความผิดทางอาญาได้
๘.การที่ศาลตัดสินว่าการกระทำของอธิการบดี “เป็นการเลือกปฎิบัติ ใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ” นั้น น่าจะเป็นเพราะ เมื่อศาลพิจารณาว่า –การกระทำของอาจารย์ไม่เป็นการปกปิด –ก็เท่ากับว่าไม่ได้ทำผิดวินัย –การที่ไปเล่นงานทางวินัยโดยที่เขาไม่ผิดจึงเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ –การใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบเท่ากับปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นความผิดทางอาญา 
๙.เห็นได้ว่าศาลอาจจะนำข้อเท็จจริงที่ว่า “อาจารย์ได้อุทธรณ์ต่อกรรมการชุดที่๒ และกรรมการเห็นด้วยว่าไม่ผิด และอาจารย์ได้แจ้งคณะกรรมการชุดที่๑ แต่กลับเพิกเฉยไม่นำเรื่องเสนอให้โจทก์กลับเข้ารับราชการทำให้เสียหาย” มาประกอบการวินิจฉัยตามข้อที่แล้วด้วย
๑๐.จากคำถามที่ว่า “เมื่อผู้บังคับบัญชาเลือกปฎิบัติ ใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ ผลจะเป็นเช่นไร”นั้น  ตอบได้ว่า ผู้บังคับบัญชาอาจถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และอาจถูกศาลตัดสินให้จำคุกได้ด้วย
คดีนี้เป็นการตัดสินในศาลชั้นต้น ยังมีการอุทธรณ์ ฎีกาต่อไป  ฉะนั้นยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด โปรดติดตามต่อไป

---------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น: